วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

Final Step of Batik

ขั้นตอนสุดท้ายแล้ววววว...เย้ ๆ

ขั้นตอนการย้อมน้ำยาโซเดียม เป็นขั้นตอนที่เครียดสำหรับฉัน ปัจจุบันทำมาเป็นร้อยผืนแล้วก็ยังค่อนข้างเครียดตอนจะย้อมผม เอ๊ย ย้อมผ้าทุกครั้ง ทำไมหรือคะ? ก็เพราะถ้าย้อมไม่ทั่ว ไอ้ที่เราทำมาแทบตายก็จบเห่กันตอนนี้เอง
 วิธีการย้อมเขามีมากหลายวิธีค่ะ แต่ตอนนี้ฉันจะบอกวิธีเดียว ที่ฉันทำมาแล้วเวิร์คที่สุด เตรียมอุปกรณ์การย้อมก่อนดีไหมคะ

1. ผ้าที่จะย้อม

2. เฟรม

3. น้ำยาซิลิเกตโซเดียม

4. ถุงมือยาง

5. การ์ดพลาสติก (พวกบัตรเอทีเอ็ม, บัตรเครดิตที่ไม่ใช้แล้ว)

6. หนังสือพิมพ์

7. น้ำยาล้างจาน (ซันไลต์ชนิดผสมมะนาว)

8. หม้อสำหรับต้มผ้า (ควรเป็นหม้อที่ไม่ใช้แล้ว แต่ก้นอย่ารั่วนะคะ)

เอาหนังสือพิมพ์มาปูพื้นที่ก่อนค่ะ เพราะถ้าน้ำยาหยดลงที่พื้นแล้วจะเหนียว เลอะเทอะ จากนั้นก็วางเฟรม ขึงผ้าที่จะย้อม ใส่ถุงมือ (ไม่ใส่ก็ได้ ถ้ามั่นใจว่าทำไม่เลอะเทอะ และไม่แพ้น้ำยา) ฉันแรก ๆ ใส่ถุงมือ ตอนหลังคล่องค่ะ เลยไม่ใส่ พอโดนน้ำยาทีก็ดิ้นปั้ด ๆ เอ๊ย...ไม่ใช่ค่ะ ก็ไปล้างน้ำเปล่า แหะ ๆ เล่าอะไรชอบเกินเลยทุกที

น้ำยาที่ซื้อมา บางทีอาจจะข้นเหนียวมาก ๆ ก็สามารถผสมน้ำได้เล็กน้อย ระวังอย่าผสมน้ำมากไป เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของน้ำยาลดลงค่ะ ก่อนจะย้อมสี ต้องมั่นใจนะคะว่าผ้าที่ระบายสีนั้น สีแห้งแล้วจริง ๆ ห้ามใจร้อนเด็ดขาด จะให้ดี ก็ทิ้งข้ามคืนไว้ อันนี้..แห้ง..ชัวร์ป้าบ

เทน้ำยาลงบนผ้าประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ แล้วเอาเครดิตการ์ดรูดปริ๊ด ๆ เอ้อ...เอาการ์ดมาปาด ๆ ให้น้ำยาซึมไปทั่ว ๆ ค่ะ พึงทำด้วยความใจเย็น ฉันเห็นเพื่อนบางคนปาดไปคุยโทรศัพท์ไป ก็ดีนะคะ เพลินดี

เมื่อปาดไปแล้ว น้ำยาหมดก่อน แล้วความรู้สึกว่ามันยังไม่ทั่วดี ก็เทเพิ่มเลยค่ะ อย่าเกรงใจ หรือพอปาดแล้วทั่วแล้ว เราก็ปาดน้ำยาที่เหลือเก็บใส่ขวดไว้ใช้กับผืนอื่นได้ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด อย่าประหยัดค่ะ เพราะถ้าทาน้ำยาไม่ทั่ว พอต้มออกมาแล้วจะกระดำกระด่าง เสียหายหลายร้อย หลายพัน ดังนั้นเอาชัวร์ไว้ดีกว่าพี่น้อง

เมื่อทาน้ำยาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ทิ้งไว้อย่างงั้น ไปทำงานชิ้นใหม่เลย หรือจะไปทำอย่างอื่นก็ได้ค่ะ พอผ้าแห้งก็พับเก็บไว้ รวมกันหลาย ๆ ผืน ค่อยลงมือต้ม ผ้าที่ชุบน้ำยา ควรทิ้งไว้อย่างต่ำ ๆ 8 ชั่วโมง ตำราเขาว่า 4 ชั่วโมง แต่ฉันว่ายิ่งทิ้งไว้นานแค่ไหน ก็ยิ่งดีแค่นั้นค่ะ แต่ไม่ต้องทิ้งข้ามปีนะเคอะ ไม่ต้องใช้กันพอดี

เมื่อจะต้มผ้า ก่อนจะนำผ้าไปต้ม ฉันนำไปล้างน้ำเปล่าก่อนค่ะ ควรใส่ถุงมือ ค่ะขั้นตอนนี้ ถ้าคิดว่าเป็นคนผิวบอบบาง ฉันมันประเภทชนะตลอด เลยไม่ต้องใส่ถุงมือ เอาผ้ามาล้างจนน้ำใสแล้วค่อยโยนลงในน้ำเดือดที่ใส่น้ำยาล้างจานลงไปแล้ว น้ำยาล้างจานควรเลือกสูตรที่ผสมมะนาวค่ะ เขาว่ากันว่าช่วยให้เทียนหลุดจากผ้าง่ายขึ้น และรักษาสีให้เงางามคงทนเพิ่ม จริงเท็จแค่ไหนฉันไม่ทราบค่ะ แบบว่าเชื่อไว้ก่อนอากงสอนไว้ค่ะ

ใครที่ขี้เกียจทำซับซ้อนหลายขั้นตอน จะทิ้งผ้าลงไปในน้ำเดือนผสมน้ำยาล้างจานเลยก็ได้ค่ะ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

ทีนี้ คุณ ๆ ก็ได้เป็นปลื้มกับผลงานแล้วซิคะ เอาไปตากเลยค่ะ ตากลมประเดี๋ยวเดียวผ้าก็แห้งแล้ว ผ้ามัสลินมีคุณสมบัติแห้งง่ายค่ะ ไม่จำเป็นต้องเอาไปตากแดด แค่ตากในร่ม ให้ลมโกรกสบาย ๆ ไม่ถึง 2 ชั่วโมงดี ก็เอาผ้ามาเย็บริมเป็นผ้าเช็ดหน้าแสนสวยที่คุณเป็นปลื้มได้แล้วค่ะ

บาติกเป็นงานที่ง่าย และเพลิดเพลินค่ะ นี่คือหนึ่งในกิจกรรมที่ฉันคิดว่าสมาคมฯ สามารถบรรจุไว้สำหรับให้ความรู้แก่ศิษยานุศิษย์ได้ ทั้งยังทำเก็บไว้จำหน่ายหาเงินเข้าสมาคมในกาลต่อไปได้อีกด้วยค่ะ 55555555 ทีนี้คงเข้าใจแล้วนะคะ ว่าทำไมฉันจึงนั่งพิมพ์บทความสอนบาติกอยู่หลายวัน?

นอกจากบาติกแล้ว ฉันคิดว่าศิษย์เก่าวัฒนาหลายคนมีความรู้ความชำนาญหลากหลายออกไปมากมาย น่าจะมีการเชิญชวนมาเป็นวิทยากร เพื่อความรู้อันน่าเพลิดเพลิน และก่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ร่วมกิจกรรม อันนำไปสู่ความสามัคคีในหมู่สมาชิกได้ และเรายังสามารถคัดเลือกผลิคภัณฑ์ออกจำหน่าย เพื่อหาเงินได้อีกด้วย งานนี้ยิงธนูเพียงศรเดียว ได้เป็ดน้ำมาเป็นฝูงเชียว หรือคิดว่าอย่างไรคะ?



ผืนนี้ทำขนาดใหญ่ค่ะ ยาวเมตรกว่า แต่ถ่ายรูปเจาะ เน้นความงาม 5555555555

ไม่มีความคิดเห็น: