วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

Batik Lesson 1

เรียนรู้การไหลของสี และมิติของบาติก

คราวที่แล้วได้บอกให้ตัดผ้ามัสลินขนาด 15 คูณ 15 นิ้ว ตัดกันหรือยังคะ อ้อ..ครั้งที่แล้วลืมบอกไปค่ะ ว่าการตัดผ้า ขอให้ใช้กรรไกรตัดโดยตลอดนะคะ เพราะว่าฉันเคยเจอผู้หวังดีแนะนำให้ฉีกผ้าค่ะ บอกว่าตรงแน่ แต่ขอโทษ..ไม่จริงค่ะ เบี้ยวเห็น ๆ แถมชายลุ่ยรุ่งริ่งเชียว


เอามา 1 ผืนค่ะ วางทาบลงบนเฟรม แล้วเอาปลายด้ามพู่กันเบอร์ 10 หรือ 12 รูดค่ะ ผ้าจะติดเหมือนทากาวเลย ด้านที่ 3-4 ให้ค่อยดึงผ้าทีละนึงแล้วรูด การขึงผ้าควรขึงให้ตึงค่ะ ทำงานบาติกมาก ๆ สามารถไปรับจ๊อบปูที่นอนได้ เพราะมีความสามารถในการทำให้ผ้าตึงเปรี๊ยะ เรียบสนิทดี เมื่อผ้าตึงเรียบร้อยก็เอาด้านพู่กันรูดเป็นการซีลส่งท้าย เพื่อความแน่นหนา อิอิ

อุ้ยตาย ลืมตั้งเตาอุ่นเทียนไว้ แหะ ๆ อย่าถือสากันนะคะแก่แล้วก็งี้แหละ ตอนนี้ก็ไปตั้งเตาไว้เลยค่ะ เตรียมจันติ้ง ช้อน หรือจะเอาเศษผ้าก็ได้ ตั้งเตาแล้วก็กลับมาที่เฟรมค่ะ โฟมที่ซื้อมาตัดให้พอดีกับกรอบในเพื่อไว้ใช้หนุนใต้ผ้าเวลาลอกลายค่ะ ควรจะหากระดาษมาห่อโฟมหน่อยเพื่อความคงทน จะได้ไม่หักให้ต้องไปซื้อใหม่บ่อย ๆ เนื่องจากโฟมย่อยสลายยาก เป็นตัวการเพิ่มขยะโลก และทำให้โลกร้อน... กลับมาแล้วค่ะ กลับเข้าเรื่องบาติก เอาโฟมรองใต้ผ้าเรียบร้อยแล้วก็หาถ้วย หรือแก้ว หรืออะไรก็ได้ที่เป็นทรงกลม วางไว้ในตำหน่งตามภาพค่ะ วาดวงกลม 3 อัน เรียงลงมา อีกด้านให้วาดเป็นภูเขา และตีเส้นแบ่งตามรูปเลยค่ะ ไม่ต้องซีเรียสมากค่ะ ภูเขาน่ะ จะเอาภูเขาเตี้ย ๆ หรือจะเอาดอยชี้ฟ้า เทือกเขาแอลป์ได้ทั้งนั้นค่ะ แค่ต้องมีเส้นแบ่งทะเล

วาดเสร็จแล้วใช่ไหมคะ เอาโฟมออกเลยค่ะ หิ้วเฟรมมาที่โต๊ะที่ตั้งเตาต้มเทียน เทียนละลายแล้วก็หรี่ไฟหน่อยนะคะ ฉันเคยเจอลาวาเทียนบาติกปะทุค่ะ เฟรมไม่ต้องตั้งชิดหม้อมากนักค่ะ เผื่อเทียนหก จะได้ไม่โดนผ้า ไม่งั้นก็แก้ยากค่ะ เพื่อนบอกว่าเอาน้ำร้อนราด แต่ฉันยังไม่เคยทำค่ะ จะให้ดีก็ระวังไว้ดีกว่า

เทียนร้อนแล้ว แต่จันติ้งยังเย็นอยู่ เอาจันติ้งวางทิ้งไว้ในหม้อสักประเดี๋ยวเพื่ออุ่นให้..เอ่อ ..เขาเรียกอะไรหว่า? ฮ่า ๆ ๆ อ้อ นึกออกแล้ว เรียกว่า “ถ้วย” ค่ะ ไม่ต้องแช่ด้ามจับนะคะ วางพาดไว้หรือจะถือไว้ก็ได้ เพราะไม่นาน ลองตักเทียนดู แล้วดูว่าน้ำเทียนไหลจากท่อหรือยัง เมื่อมันไหลดีแล้วก็ตักมาค่ะ เอาช้อน หรือผ้าลองใต้หน่อยนะคะ เพราะมันจะหยดเลอะงานค่ะ เอามาแล้วอย่าเพิ่งเขียนค่ะ

เทียนร้อนจัดจะทำให้ลายเส้นที่เขียนบวมค่ะ ไม่สวย แต่ถ้าเย็นไปก็ไม่ได้ ต้องร้อนพอเหมาะค่ะ ขนาดไหนที่เรียกว่าพอเหมาะเหรอคะ ลองเขียนที่เศษผ้าดู ถ้าเส้นไม่บวมแล้วก็นำมาเขียนได้เลยค่ะ เนื่องจากเทียนจะแข็งตัวถ้าเริ่มอุ่นไปทางเย็น ดังนั้น ควรจะเปลี่ยนน้ำเทียนบ่อย ๆ ไม่ใช่ตักมาแล้วเขียนทีเดียวทั้งเฟรม

ใหม่ ๆ จะรู้สึกอึดอัด ไม่รู้จะจับยังไงให้เขียนได้ถนัด ฉันเรียนมา 6 วันแล้ว ยังจับจันติ้งไม่ถนัดเท่าไรเลยค่ะ แค่เริ่มพอจะเขียนได้โดยไม่ทำเทียนหก แต่ต้องใจเย็นสุดขีด จะเรียกได้ว่าการทำบาติก เป็นการฝึกให้เราใจเย็นลง ก็ว่าได้ค่ะ เขียนเสร็จหรือยังคะ หกก็ไม่เป็นไรค่ะ งานชิ้นแรก ถ้าไม่มีตำหนิเลยก็ไม่เท่ห์ อิอิ อย่าลืมตีกรอบนะคะ ไม่ต้องเอาไม้บรรทัดที่ไหน ก็ขอบเฟรมนั่นแระค่ะ ลากไป

เขียนเทียนเสร็จ ก็ให้ยกขึ้นส่องหน่อยค่ะ ว่าเส้นเทียนทะลุตลอดหรือเปล่า และตรงลอยต่อเชื่อมกันดีหรือไม่ เนื่องจากเทียนจะเป็นตัวกั้นสี ถ้าเส้นเทียนขาด สีก็จะโผเข้าหากันเหมือนคู่รักที่จากกันมานาน แต่รับรองว่าคุณไม่ประทับใจแน่ ตรงไหนไม่ชัด หรือรอยต่อไม่ติด ก็เติมค่ะ

จากนั้นก็เริ่มระบายสีละ ภาพวาดต้องมีแสงเงา ถึงจะดูสวย มีมิติ ถูกไหมคะ? เนื่องจากว่าบาติกไม่มีสีขาว เพราะผ้าที่นำมาเพ้นท์เป็นสีขาวอยู่แล้วเปิดหลอดสีไว้เลยค่ะ เปิดทุกหลอดเลย จะได้ใช้งานสะดวก ถ้าบังเอิญที่หลอดสีล้ม (1 สี) อย่าเอาผ้าซับนะคะ เอาหลอดฉีดยาดูดกลับมาใช้ได้อีกค่ะ ฉะนั้นควรตั้งหลอดไว้บนโต๊ะพลาสติค จะให้ดีก็อย่าได้ทำหกดีกว่าค่ะ ถ้าหกหลายสีก็กินยาทัมใจเพื่อที่จะทำใจ แล้วเช็ดค่ะ

เลือกสีเข้ม ๆ หน่อยนะคะ จะได้เห็นแสงเงาชัดเจน สีเหลืองมะนาวน่ะไม่ต้องเลย ได้สีมาแล้วใช้ไหมคะ หยิบพู่กันเบอร์ 6 จุ่มน้ำสะอาด ๆ หมาด ๆ ค่ะ แล้วป้ายไปตรงบริเวณที่คุณต้องการให้เป็นแสงสีขาวไม่ต้องวงกว้างนักนะคะ

จากนั้นก็จุ้มสีมาระบายรอบขอบเทียน แล้วล้างพู่กันค่ะ เช็ดให้แห้ง ระหว่างนี้ สีมันจะวิ่งค่ะ ถ้าไม่วิ่งก็ไม่ต้องตกใจ ให้เอาพู่กันล้างน้ำแล้วเช็ดกับกางเกง..เอ๊ย..ผ้าขี้ริ้วค่ะ ควรมีผ้า 1 ผืน ไม่ต้องใหม่หรอกค่ะ เพราะให้เป็นผ้าสวยสะขนาดไหน อีกไม่กี่นาทีข้างหน้า มันก็จะเริ่มขี้ริ้วล่ะ

ชอบไถลซะจริง กลับมาที่วงกลมใหม่ค่ะ เอาพู่กันค่อยเกลี่ยสีให้ไล่กัน ด้วยการปัดจากสีอ่อนออกไปเข้มค่ะ แล้วก็หมุน ๆ ๆ จนกว่าจะกลืนกันดี

จะลองย้ายมุมแสงมั่งก็ได้ กับวงกลมอีก 2 อัน เพราะบาติกนั้น ถ้าไม่แรเงาเลย งานก็จะไม่มีมิติค่ะ ทีนี้ก็มาเรื่องพื้นหลัง หรือเอาภาษาปะกิตก็ background

ระบายพื้นเรียบ ให้ลงน้ำให้ทั่วพื้นที่ ๆ จะระบายก่อนค่ะ ลงน้ำด้วยพู่กันพอหมาด ๆ ไม่ใช่เอาผ้าไปจุ่มลงในน้ำนะเออ เสร็จแล้วก็เช็ดพู่กันที่ผ้าก่อน จุ้มสีที่เลือก แล้วค่อย ๆ ระบายค่ะ พอระบายทั่วดีแล้วให้เช็ดพู่กันอีกที เอาพู่กันที่แห้ง ๆ ทำการเกลี่ยให้สีเรียบ สามารถกดแรง ๆ ได้หน่อยค่ะ

อันที่ 2 เป็นการระบายหยอดสี เอาน้ำลงก่อนเหมือนช่องแรก แล้วเอาพู่กันจุ่มสี มาจุดลงไปเบา ๆ สีก็จะวิ่งเป็นดวง ๆ จะดวงเล็ก ดวงใหญ่ ก็แล้วแต่เราจุ้มสีมาจุดมากน้อยแค่ไหน ทดลองทำหลาย ๆ สี ก่อนจะใช้สีอื่นให้ล้างพู่กันก่อนทุกครั้งค่ะ

อันที่ 3 เป็นการไล่สี เราใช้เทคนิคคล้าย ๆ วงกลม คือลงน้ำบริเวณที่เราต้องการให้เป็นสีอ่อน แล้วลงสีตรงที่แห้ง จากนั้นก็เกลี่ยเงาไปหากันค่ะ

ส่วนภาพวิว ให้ทดลองทำบรรยากาศ 3 เวลา เช้า เย็น กลางคืน การทำท้องฟ้ากับทะเลเป็นเรื่องยากค่ะ ต้องลงน้ำก่อน แล้วค่อย ๆ ใช้พู่กันปาดสีลงไปทีละสี อย่าระบายไปทั้งผืน ต้องดูตัวอย่าง แล้วค่อย ๆ ทำไปค่ะ ท้องฟ้ายามเช้าควรจะสว่างสดใส เอาสีฟ้าจุ้มมาบางเบาหน่อยนะคะ ฉันเป็นคนมือหนักค่ะ ฟ้าเลยไม่ค่อยสว่างไสวเท่าที่ควร จะว่าไปก็เหมือนฟ้าเมืองหลวง อากาศขมุกขมัวตลอด ฮ่า ๆ ๆ ทะเลยามเช้า ก็ควรจะออกแนวใส ๆ ฉันมัวละเลง ไม่ได้ฟังอาจารย์ค่ะ ผลคือทะเลดูเหมือนกันหมดทั้ง 3 ช่อง นับเป็นทะเลที่มั่นคง ไม่ค่อยแปรปรวน

ส่วนตอนเย็น ก็เป็นช่วงอาทิตย์อัสดง สมมติว่าพระอาทิตย์ตกหลังเขา แสงสีเหลืองจึงเริ่มต้นตรงนั้น ก่อนจะไปค่อย ๆ เป็นสีส้มไปถึงขอบ ทะเลยามนี้ก็ควรจะสีเข้มกว่ายามเช้าหน่อยค่ะ


มาถึงยามดึกกันมั่ง ท้องฟ้ายามกลางคืน อย่าคิดว่าง่าย ๆ นะคะ เพราะฟ้ากลางคืนไม่ได้เป็นสีดำสนิท เรายังคงเห็นท้องฟ้าได้เลือนราง ค่อย ๆ เพิ่มสีให้เข้มขึ้น ๆ นะคะ ของฉัน อย่างที่บอกน่ะค่ะ หูตึงก็แย่อยู่แล้ว ยังไม่ค่อยฟังอาจารย์พูดอีกต่างหาก เรียนวันแรก อาจารย์เกรงใจค่ะ เพราะอาวุโสกว่าอาจารย์หลายปีอยู่ เรียน ๆ ไป อาจารย์เริ่มคุ้นเคย ทำท่าจะบีบคอลูกศิษย์เฒ่าหลายครั้งอยู่ ค่าที่ทำเร็วกว่าคนอื่น พอทำก็ทำไปเรื่อย อาจารย์หันมาอีกที..อ้าวแก้ไขไม่ได้แล้ว ฉะนั้นโดยมากแล้ว ถ้ามีอะไร อาจารย์จะบอกฉันก่อนว่า...อย่าเพิ่ง...นะคะ บางทีได้เพื่อนร่วมรุ่นช่วยกันเบรกวุ่นวายไปหมด หุหุ

แต่งานชิ้นแรก ก็หาได้ขี้ริ้ว ขี้เหร่ไม่ และฉันก็เริ่มหลงใหลบาติกตั้งแต่เริ่มเรียนวันแรกเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: